อหิวาตกโรค

อหิวาตกโรค (Cholera) คือ โรคที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่าวิบริโอ โคเลอรี (Vibrio Cholerae) โดยได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดนี้

อหิวาตกโรค ทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำและอาเจียนอย่างรุนแรง ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็วจนนำไปสู่การเกิดภาวะขาดน้ำ ในกรณีที่รุนแรงอาจเกิดอาการช็อคและเสียชีวิตได้

อหิวาตกโรค

อาการของอหิวาตกโรค

– ท้องร่วง โดยลักษณะของอุจจาระจะเหมือนน้ำซาวข้าว ภายในอุจจาระมีเกล็ดสีขาวซึ่งเป็นเมือกหรือเนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารขนาดเท่าเมล็ดข้าว และอาจมีกลิ่นเหม็นคาวร่วมด้วย

– คลื่นไส้และอาเจียน โดยอาการมักเกิดขึ้นหลายชั่วโมงในช่วงเริ่มต้นของการแสดงอาการ

– เกิดภาวะขาดน้ำ จากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกายผ่านทางอุจจาระและอาเจียน ซึ่งหากผู้ป่วยสูญเสียน้ำในร่างกายไปมากกว่า 10% ของน้ำหนักตัว อาจเกิดอาการขาดน้ำขั้นรุนแรงได้

– อาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำเช่น อารมณ์แปรปรวน ตาโหล กระหายน้ำมาก ริมฝีปากแห้ง ผิวแห้ง ปัสสาวะน้อย ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สาเหตุของอหิวาตกโรค

1. แหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำในชุมชนแออัดที่ไม่มีการจัดการด้านสุขาภิบาลที่ดี ซึ่งเชื้อสามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้ในระยะเวลานาน ทำให้แหล่งน้ำเหล่านี้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคชั้นดี

2. อาหารทะเล โดยเฉพาะอาหารทะเลจำพวกหอยที่อาจมีการปนเปื้อนจากแหล่งน้ำ หากนำมารับประทานแบบดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ก็อาจทำให้ร่างกายได้รับเชื้อได้

3. ผักและผลไม้สดที่ไม่ได้ปอกเปลือก เนื่องจากผักผลไม้เหล่านี้อาจมีกระบวนการปลูกโดยใช้ปุ๋ยคอก ทำให้สามารถเกิดการปนเปื้อนของเชื้อได้

ระยะฟักตัวอหิวาตกโรค

– ผู้ได้รับเชื้อจะมีอาการตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมงแรกถึง 5 วัน (เฉลี่ย 1-3 วัน)

การปฐมพยาบาลอหิวาตกโรค

– ดื่มน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) แทนน้ำ
รีบไปโรงพยาบาล

ภาวะแทรกซ้อนของอหิวาตกโรค

อหิวาตกโรคเป็นโรคที่รุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในเลือด เกิดภาวะขาดน้ำ มีอาการช็อค และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่ไม่ชั่วโมงหรือหลายวันหลังจากที่ปรากฏอาการของโรคแล้ว ซึ่งในกรณีที่รุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายใน 2–3 ชั่วโมงเลยทีเดียว

นอกจากนี้ อหิวาตกโรคยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ภาวะเกลือโพแทสเซียมต่ำ (Hypokalemia) ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียเกลือแร่จำนวนมากจากอาการท้องเสียอย่างรุนแรง รวมถึงภาวะไตวายที่ทำให้ไตไม่สามารถกรองของเสียในร่างกายได้อีกต่อไป

การรักษาอหิวาตกโรค

– ให้ผู้ป่วยจิบผงละลายเกลือแร่ (Oral Dehydration Salt: ORS) ที่ผสมในน้ำต้มสุก เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ในเลือดที่ร่างกายสูญเสียไป

– ให้สารน้ำทดแทน (Intravenouse Fluids) ทางน้ำเกลือในกรณีที่เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่มาก เพื่อรักษาภาวะขาดน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะช็อคจากการขาดน้ำเฉียบพลัน

– ให้ยาปฏิชีวนะบางชนิดเพื่อช่วยลดระยะเวลาในการเกิดอาการท้องร่วง เช่น ยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) หรือยาอะซีโธรมัยซิน (Azithromycin)

– ให้แร่ธาตุสังกะสีเพื่อช่วยลดระยะเวลาในการเกิดอาการท้องร่วง ซึ่งมักใช้รักษาอาการท้องร่วงในเด็ก

ที่มา

ch9airport.com

allwellhealthcare.com

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ commodore-ale.com