ชิวาวา ถูกจำแนกออกเป็น 2 สายพันธุ์ตามความแตกต่าง คือ พันธุ์ขนสั้นและขนยาว ดวงตาที่กลมโต ปลายหูค่อนข้างแหลมตั้งขึ้น และร่างกายขนาดเล็กเป็นคุณสมบัติหลักของชิวาวา ความฉลาดเป็นอย่างมากของพวกมันก็เป็นอีกหนึ่งในคุณสมบัติที่เป็นที่ชื่นชอบในสายพันธุ์นี้

ลักษณะทางกายภาพ
โดยทั่วไปแล้วความสูงของชิวาวาไม่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ มีเพียงน้ำหนักและคำอธิบายสัดส่วนโดยรวมของพวกมันที่ถูกระบุไว้ ส่งผลทำให้พวกมันมีความสูงที่แตกต่างกันมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ โดยทั่วไปแล้วชิวาวาจะมีความสูงอยู่ระหว่าง 6-10 นิ้ว แต่อย่างไรก็ตามชิวาวาบางตัวสามารถสูงได้ถึง 12-15 นิ้ว (30 ถึง 38 ซม.) จากมาตรฐานสายพันธุ์ของทั้งอังกฤษและอเมริกาได้ระบุไว้ว่าชิวาวาต้องหนักไม่เกิน 6 ปอนด์เพื่อความสอดคล้องกัน อย่างไรก็ตามมาตรฐานของอังกฤษระบุว่าชิวาวาควรมีน้ำหนัก 2-4 ปอนด์และถ้าหากสุนัขทั้งสองตัวดีพอ ๆ กันควรเลือกตัวที่มีขนาดเล็กกว่า

ผู้เพาะพันธุ์ชิวาวามักใช้คำศัพท์ เช่น ขนาดจิ๋ว ถ้วยชา ของเล่นเล็ก ๆ หัวแอปเปิ้ล หรือหัวกวางเพื่อบรรยายลักษณะของลูกสุนัข คำศัพท์เหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับจากมาตรฐานสายพันธุ์และอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้

ขน
Kennel Club ในสหราชอาณาจักรและ American Kennel Club ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ทำการจำแนกชิวาวาออกเป็นสองสายพันธุ์ คือ พันธุ์ขนยาวและขนเรียบที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับขนสั้น แต่ตามพันธุกรรมพวกมันถือว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกัน คำว่าขนเรียบไม่ได้หมายความว่าขนจำเป็นจะต้องเรียบลื่นเสมอไป เนื่องจากเส้นขนสามารถให้สัมผัสที่เหมือนกับกำมะหยี่ไปจนถึงสัมผัสที่เหมือนกับไม้กวาด ส่วนชิวาวาที่มีขนยาวจะสัมผัสได้ถึงความลื่น ความอ่อนนุ่ม เส้นขนที่ละเอียดและขนชั้นในที่อ่อนนุ่ม ซึ่งทำให้พวกมันมีลักษณะขนที่ปุกปุย ชิวาวาที่มีขนยาวต้องการการทำความสะอาดน้อยมากและไม่จำเป็นต้องมีการตัดแต่งขนซึ่งต่างจากสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ จำนวนมากที่มีขนยาว และตรงกันข้ามกับความเชื่อส่วนใหญ่เนื่องจากชิวาวาพันธุ์ขนยาวมักจะผลัดขนน้อยกว่าพันธุ์ขนสั้น มันอาจใช้เวลานานถึง 2 ปีหรือมากกว่านั้นก่อนที่ขนจะยาวเต็มที่

สีขน
สีขนของชิวาวาภายใต้มาตรฐานของ American Kennel Club คือ “สีเดียวล้วน ๆ มีแต้ม หรือมีลวดลาย” ซึ่งมีตั้งแต่สีดำล้วนไปจนถึงสีขาวล้วน สีน้ำตาลเข้ม เป็นแต้ม ๆ หรือสีและลวดลายอื่น ๆ ที่หลากหลาย ตัวอย่างบางส่วนได้แก่ สีน้ำตาลแกมเหลือง (Fawn), สีแดง (Red), สีครีม (Cream), สีช็อคโกแลต (Chocolate), สีน้ำเงิน (Blue) และสีดำ (Black)

ส่วนสีลายหินอ่อน (Merle) คือสีที่มีการแต้มด้วยจุดด่าง โดยรูปแบบทั้งหมดทั้งแบบที่มีหรือไม่มีแต้มสีขาวประกอบไปด้วยสีน้ำตาลเข้ม (sable), ลายเสือ (Brindle), จุดสีแทน (Tan points), สีแดง (Red), สีขาว (White), สีดำ (Black), ลายหินอ่อน (Merle), สีส้ม (Orange), สีน้ำตาลแกมเหลือง (Fawn), สามสี (Tricolor), สีน้ำตาลที่เข้มมาก ๆ (Dark brown), สีน้ำเงิน (Blue) เป็นต้น

รูปแบบขนที่เป็นลายหินอ่อน (merle) ไม่ถูกจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานสายพันธุ์ โดยในเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ.2007 Kennel Club ของสหราชอาณาจักรได้ตัดสินใจที่จะไม่จดทะเบียนให้กับลูกสุนัขที่มีสีขนเป็นลายหินอ่อน เนื่องจากความเสี่ยงด้านสุขภาพที่มีความเกี่ยวข้องกับยีน และในเดือนธันวาคมของปีนั้นก็ได้มีการแก้ไขมาตรฐานสายพันธุ์อย่างเป็นทางการเพื่อระบุสีขนของชิวาวาว่าเป็นสีใด ๆ หรือเป็นส่วนผสมของสีที่ไม่ใช่ลายหินอ่อน

Fédération Cynologique Internationale เป็นองค์กรซึ่งมี Kennel club 84 ประเทศสมาชิกที่ยังขาดคุณสมบัติลายหินอ่อน ส่วน Kennel Club ของประเทศอื่นที่มีคุณสมบัตินี้ประกอบไปด้วยประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเยอรมนี อย่างไรก็ตามในเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ.2008 Chihuahua Club of America ได้ทำการโหวตว่าสุนัขที่มีลายหินอ่อนจะไม่ถูกตัดสิทธิ์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและพวกมันสามารถจดทะเบียนได้อย่างเต็มที่และสามารถแข่งขันในทุกกิจกรรมของ American Kennel Club (AKC) ได้

การจำแนกสีขนของชิวาวามีความซับซ้อนเนื่องจากมีความเป็นไปได้จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ลายเสือสีน้ำเงินหรือสีช็อคโกแลตและสีแทน โดยสีและลวดลายสามารถนำมารวมกันและส่งผลทำให้เกิดความแตกต่างในระดับสูงได้ สีพื้นฐานของชิวาวายังคงเป็นสีน้ำตาลแกมเหลือง (fawn) ไม่มีสีหรือลวดลายใดที่มีค่ามากไปกว่าสีอื่น ๆ ถึงแม้ว่าสีน้ำเงินจะถือว่าเป็นสีที่หายากก็ตาม

อายุขัย
ชิวาวามีอายุขัยโดยเฉลี่ยที่ยาวนานอย่างน่าประหลาดใจอยู่ที่ระหว่าง 13-17 ปี ซึ่งยาวนานกว่าสายพันธุ์ส่วนใหญ่อย่างมีนัยสำคัญและอาจเป็นเพราะว่ามันมีขนาดตัวที่เล็ก

ลักษณะนิสัย
สายพันธุ์ชิวาวาดูมีความบกพร่องในเรื่องของขนาดแต่ก็สามารถที่จะทดแทนได้ด้วยบุคลิกภายนอกที่ดูดี พวกมันมีการผสมผสานกันอย่างลงตัวทั้งความเย่อหยิ่งและความน่ารักซึ่งทำให้พวกมันมีลักษณะที่ไม่เหมือนใคร
ชิวาวาเป็นสุนัขที่รักและชอบใกล้ชิดกับผู้คน ถึงแม้ว่าพวกมันจะมีขนาดตัวที่เล็กแต่พวกมันมีนิสัยที่ตื่นตัวจึงทำให้สามารถเป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ยอดเยี่ยมได้
ชิวาวาเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่ฉลาดซึ่งสามารถทำการฝึกอบรมได้โดยใช้ความอดทน พวกมันจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นทางทางความคิดบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยรวมแล้วสุนัขสายพันธุ์นี้ต้องการความรักและเป็นสัตว์เลี้ยงที่ยอดเยี่ยมสำหรับทุกครอบครัว

การเข้ากับเด็ก
ชิวาวาเข้ากับเด็ก ๆ ได้ดี แต่อย่างไรก็ตามปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ถ้าทั้งเด็กและสุนัขมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน จึงไม่แนะนำให้เลี้ยงชิวาวาหากมีเด็กวัยหัดเดินอยู่ในบ้าน เนื่องจากขนาดที่บอบบางของพวกมันส่งผลให้เด็กสามารถทำให้สุนัขได้รับบาดเจ็บได้ง่ายหากมีการปฏิบัติตนอย่างไม่ถูกต้อง หากคุณมีทั้งชิวาวาและเด็กเล็กอยู่ในบ้านเดียวกันควรทำการดูแลอย่างใกล้ชิด การเข้าสังคมตั้งแต่เนิ่น ๆ สำหรับชิวาวาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการสอนให้พวกมันรู้ถึงวิธีการปฏิบัติตนกับผู้คนและสัตว์อื่น ๆ

brown chihuahua sitting on floor. small dog in asian house. feeling happy and relax dog.

การดูแล
การออกกำลังกาย
เนื่องจากชิวาวามีขนาดที่เล็กมากพวกมันต้องการการออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย การเดินทุกวันก็เพียงพอสำหรับการออกกำลังกายตามคำแนะนำแล้ว คุณควรทราบว่าชิวาวาทนอยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็นได้ไม่ดีนัก ดังนั้นหากเดินในฤดูหนาวอย่าลืมที่จะหาเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่นกับพวกมัน

อาหาร
ชิวาวาต้องการอาหารในปริมาณที่น้อยมาก เพื่อสุขภาพที่ดีควรอาหารที่มีคุณภาพสูงในปริมาณ ¼-½ ถ้วยตวงและแบ่งออกเป็นสองมื้อก็เพียงพอแล้วสำหรับการบริโภคในแต่ละวัน และจะต้องมั่นใจว่ามีน้ำสะอาดให้กับพวกมันอยู่เสมอ

โรคประจำพันธุ์
โรคประจำพันธุ์ที่พบในชิวาวา ได้แก่

โรคระบบประสาท
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus)
โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation Anxiety)
โรคลมชัก (Epilepsy)
โรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis)
โรควิตกกังวล (Anxiety)
โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
โรคลิ้นหัวใจพัลโมนารีตีบ (Pulmonic Stenosis)
โรคลิ้นหัวใจไมทรัลรั่ว (Mitral Regurgitation)
ภาวะหลอดเลือดดำที่ตับลัดเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด (Portosystemic shunts)
โรคไตและทางเดินปัสสาวะ
ภาวะนิ่วในไต (Kidney Stones)
โรคระบบทางเดินหายใจ
ภาวะหลอดลมตีบ (Collapsed trachea)
โรคระบบกระดูก เอ็น และข้อต่อ
โรคกระดูกสะบ้าเคลื่อน (Patellar Luxation)
โรคหัวกระดูกต้นขาตายจากการขาดเลือด (Legg-Calve-Perthes disease)
โรคตา
โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)
โรคในช่องปาก
โรคปริทันต์ หรือโรคเหงือกอักเสบ (Periodontal Disease)
เรื่อง : ธันยพร แท่นนอก

ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่ commodore-ale.com